ประวัติการก่อตั้งคณะวินเซนเดอปอล

ประวัติการก่อตั้งคณะวินเซนเดอปอล คณะนักบุญวินเซนเดอปอล ก่อตั้งขึ้นโดย

ท่านบุญราศี เฟรเดอริก โอซานัม ที่ประเทศฝรั่งเศส เมี่อเดือน พฤษภาคม ค.ศ.1833
ครั้งแรกมีสมาชิก 7 คน คือ 1. เฟรเดอริก โอซานัม 2.บายยี 3. ลัลลีเอร์ 4. เลอตายยังดีเอร์ 5. ลามาช 6. เดอไว 7. กลาเว กิจการของคณะฯ ขยายรวดเร็วมาก เมื่อถึงเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. 1834 สมาชิกเพิ่มมากกว่า 100 คน กิจกรรมหลักของคณะคือ การช่วยเหลือคนจน ชื่อคณะครั้งแรกเรียกว่า ชมรมเมตตาจิต เนื่องจากคณะนี้ดำเนินงานโดยฆราวาส จึงเห็นควรให้มีนักบุญองค์อุปถัมภ์ประจำคณะฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นที่พึ่ง จึงเลือกท่านนักบุญวินเซนเดอ ปอลเป็นองค์อุปถัมภ์ (ปอล ซาเวียร์ แปลจากภาษาฝรั่งเศส)


ประวัติก่อตั้งสมาคมนักบุญวินเซนเดอปอล ประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 1944 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

คุณพ่อมอริส ยอลี
อยู่ที่โรงเรียนกินนอนศรีราชา ท่านเห็นว่าเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งจะกลับกรุงเทพฯ หลังสงครามยุติแล้ว และต่อไปเด็กเหล่านี้คงจะมีฐานะดีถ้าให้เด็กเหล่านี้เห็นความยากลำบากของคนจนคงจะเป็นการดี ท่านจึงคิดวางแผนก่อตั้งสมาคมนักบุญวินเซนเดอปอลในประเทศไทยขึ้น คุณพ่อจึงได้นำเด็กนักเรียนคาทอลิกบางคนไปเยี่ยมครอบครัวคนยากจนที่ศรีราชา มีหญิงชราหลังค่อมอาศัยอยู่บริเวณหลังตลาดศรีราชาริมทะเล บ้านของแกน่าสังเวชที่สุด มีเสาไม้ยางเอียงๆ น่ากลัวจะพังลงมา หลังคามุงด้วยจากที่ผุแล้ว คนเอาสังกะสีสองแผ่นไปตีแปะไว้ให้ คุณพ่อถามว่า และเวลาฝนตก ยายทำอย่างไร แกตอบว่า ยายก็ขึ้นไปคุดคู้อยู่ใต้แผ่นสังกะสี คอยจนกว่าฝนจะหยุด จากเงินที่คุณพ่อได้จากผู้ใจบุญ ยายจึงได้บ้านใหม่หลังหนึ่ง ยายพูดทั้งน้ำตาว่า มันจะอยู่นานกว่าฉัน หลังสงครามโลกยุติ เมื่อคุณพ่อ ย้ายกลับมาอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ (8 มิถุนายน ค.ศ.1947) ท่านได้ชักชวนคุณครูและคนที่สนใจ 6-7 คน ชี้แจงเรื่องงานของวินเซนดอปอล คุณพ่อพูดว่า พ่อมีเงิน 10 บาท เราจะไปช่วยครอบครัวหนึ่งพร้อมกัน และด้วยเงิน 10 บาท ของคุณพ่อเอง คณะวินเซนเดอปอลจึงเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมี อาจารย์มานิต บุญคั้นผลเป็นประธาน และ พระยาวิสุทธากร เป็นรองประธาน และมีการจดทะเบียน เป็นสมาคมนักบุญวิเซนเดอปอล ประเทศไทย อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1948 ตามใบอนุญาตที่ จ.417/2491

บทกลอนการก่อตั้งสมาคม ในประเทศไทย
จะขอกล่าวท้าวความเมื่อยามก่อน เล่าเรื่องย้อนตอนเก่าเราไม่เห็น
ประเทศไทยทุกข์ระทมขาดร่มเย็น ยากลำเค็ญทั่วไปไฟสงคราม
ชาวกรุงเทพฯ ถูกยิงทิ้งระเบิด หนีเตลิดขวัญผวาน่าเกรงขาม
ต้องคอยหลบซ่อนซุกอยู่ทุกยาม เพราะสงครามยิ่งใหญ่ภัยอนันต์
ทั้งโรงเรียนคริสต์พุทธต้องหยุดหมด เศร้าสลดนักเรียนมีก็หนีหัน
ทิ้งบางกอกหนีกระจายกลัวตายกัน ไปอยู่บ้านญาติผู้ใหญ่แถบชายเมือง
ที่โรงเรียนกินนอนศรีราชา เด็กย้ายมาพักหอกันต่อเนื่อง
เพื่อเล่าเรียนศึกษาพารุ่งเรือง ยอมสิ้นเปลืองทุกข์ลำบากจากเมืองกรุง
มีพระสงฆ์นักคิดมิชชันนารี พ่อมอริส ยอลี ที่มั่นมุ่ง
ท่านเดินทางตั้งใจไปจากกรุง จุดหมายมุ่งชลบุรีศรีราชา
เพื่อดูแลเด็กๆ ทั้งเล็กใหญ่ ที่หลบภัยมาเรียนเพียรศึกษา
พ่อสอนให้เป็นคนดีมีเมตตา เพื่อภายหน้าจะได้คิดเตือนจิตใจ
พ่อบอกเด็กต้องมีจิตฤทธิ์กุศล เห็นคนจนต้องเมตตาเข้าปราศรัย
อนาคตพ่อมองเห็นวินเซนไทย จะเกิดใหม่ก้าวหน้าไม่ช้านาน
หลังสงครามร่มเย็นเลิกเข่นฆ่า ปี-หนึ่ง-เก้า-สี่-ห้า-สิ้นอาถรรพ์
คนบางกอกเริ่มบรรจบมาพบกัน ต่างสุขสันต์ร่าเริงบันเทิงใจ
พ่อยอลีเดินทางกลับมารับงาน ที่โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ ใหม่
งานวินเซนที่ท่านคิดสกิตใจ ต้องการให้ก่อตั้งและยั่งยืน
ท่านจึงเริ่มแนะนำให้ความรู้ แก่คุณครูคริสตชนพร้อมคนอื่น
นำความรู้วินเซนมาเป็นพื้น เพื่อฟูฟื้นข้อคิดจิตตารมณ์
ถ้าท่านให้สิ่งใดแก่ใครเขา เหมือนยื่นให้พระเจ้าเราสุขสม
พระวาจาจดจำเป็นคำคม จิตตารมณ์โดดเด่นวินเซนเดอปอล
วันที่-แปด-มิถุนา-ประชุมเสร็จ ปี-หนึ่ง-เก้า-สี่-เจ็ด-สมัยก่อน
เริ่มงานเยี่ยมช่วยเหลือเอื้ออาทร ผู้เดือดร้อนด้อยโอกาสที่ขาดแคลน
วินเซนไทยดั้งเดิมเมื่อเริ่มต้น ครูมานิตย์บุญคั้นผลคนวางแผน
มีผู้ช่วยดีเด่นที่เป็นแกน จำได้แม่นชื่อพระยาวิสุทธากร
กิจการงานเพิ่มด้วยเริ่มเขียน ลงทะเบียนได้ฤกษ์ไม่เพิกถอน
ตั้งสมาคมนักบุญวินเซนเดอปอล รวมนับย้อนเวียนวก-หก-สิบ-ปี
เรื่องวินเซนเป็นแผนการงานของพระ มีคณะมากมายอยู่หลายที่
สมาชิกหญิงชายน้ำใจดี ทำหน้าที่ร่วมภาระกับพระองค์
กิจการวินเซนไทยยิ่งใหญ่นัก คนรู้จักชื่นชมสมประสงค์พันธกิจที่ทำจะดำรง ยั่งยืนคงคู่ไทยไปตลอดกาล